Monet and The Canvas of Fading Sight : Impressionism through Clouded Eyes
อิมเพรสชันนิสม์ผ่านดวงตาที่พร่ามัว : โมเนต์ และ ภาพเขียนในยามที่สายตาเลือนราง
ต้อกระจก (Cataract) มีผลต่อการเห็นสีอย่างไรบ้าง ?
“Reds looked muddy to me, pinks insipid, and the intermediate or lower notes in the color scale escaped me ; สีแดงดูเหมือนเลอะๆ ไม่สดใส สีชมพูดูจืดชืด และสีโทนกลางหรือต่ำกว่าก็เห็นไม่ชัดสำหรับผม”
โมเนต์กล่าวถึงอาการทางตาที่ตนกำลังเผชิญอยู่ จากโรคต้อกระจก
โคลด์ โมเนต์ (Claude Monet) ศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศส ผู้แหวกขนบการวาดภาพในสมัยก่อนซึ่งเป็นแนวอนุรักษ์นิยม เกิดเป็นศิลปะสมัยใหม่ เรียกว่า Impressionism โดยเน้นไปที่การถ่ายทอดความประทับใจ ของสิ่งที่ศิลปินมองเห็น ณ ขณะหนึ่ง มักเป็นภาพที่แสดงความงามของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งแสงอาทิตย์
Impression: Sunrise, 1872
Wild Poppies at Argenteuil, 1873
(source : claude--monet.com)
ซึ่งสำหรับผู้ประกอบอาชีพศิลปินอย่างโมเนต์นั้น การมองเห็นที่ดีและชัดเจน จึงมีความสำคัญต่อการสร้างผลงานเป็นอย่างมาก
ปี ค.ศ.1912 การมองเห็นของโมเนต์ในวัย 72 ปี เริ่มแย่ลง และได้รับวินิจฉัยว่าเป็น โรคต้อกระจก ในตาข้างขวา ต้อกระจก คือ ภาวะที่เลนส์ตาขุ่น ทึบขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าตาได้ไม่ดี ส่งผลให้ตาค่อยๆมัวลง ความคมชัดลดลง การมองเห็นสีเปลี่ยนไป เช่น ภาพที่เห็นจะเป็นสีอมเหลืองมากขึ้น ภาพไม่สดใสเหมือนแต่ก่อน ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดในสมัยก่อนที่ยังไม่ดีนัก ทำให้โมเนต์ปฏิเสธการรักษามาโดยตลอด เพราะกลัวว่าถ้าการผ่าตัดไม่ประสบความสำเร็จ เขาอาจจะต้องสูญเสียการมองเห็นไป เหมือนเพื่อนศิลปินของเขา
Water Lilies and Japanese Bridge, 1899
Water Lilies and Japanese Bridge, 1899
(source : claude--monet.com)
ภาพวาดของโมเนต์เริ่มเปลี่ยนไป แม้จะเป็นภาพวาดที่สถานที่เดิม ภาพซ้าย เป็นภาพที่โมเนต์วาดในช่วงที่การมองเห็นปกติ ฝีแปรงมีความเล็ก และลงรายละเอียด สีของภาพเหมือนต้นไม้จริงตามธรรมชาติ ภาพขวา เป็นช่วงที่ต้อกระจกของโมเนต์รุนแรงขึ้น โทนสีผิดเพี้ยนไปจากความจริง ฝีแปรงฟุ้ง ขอบเบลอจนแทบมองไม่เห็นรายละเอียด
โมเนต์วิตกกับการมองเห็นที่แย่ลงเรื่อยๆ เป็นอย่างมาก และได้เขียนไว้ว่า “ฉันรู้สึกตกใจกลัวอย่างมากเมื่อรู้ตัวว่ามองไม่เห็นอะไรเลยด้วยตาขวา… ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งบอกฉันว่าฉันเป็นต้อกระจก และตาอีกข้างก็เริ่มมีอาการเล็กน้อยแล้ว แม้จะมีคนบอกว่าไม่ร้ายแรง หลังผ่าตัดแล้วจะกลับมามองเห็นได้เหมือนเดิม แต่มันก็เปล่าประโยชน์ เพราะฉันรู้สึกหวั่นไหวและวิตกกังวลมากจริงๆ”
การรักษาต้อกระจกใน ศตวรรษที่ 19
ด้วยการมองเห็นย่ำแย่ในระดับที่เรียกได้ว่า ตาบอดในทางกฎหมาย (legally blind) ในปี 1922 โมเนต์จึงเริ่มทำการรักษากับจักษุแพทย์ ชื่อ Charles Coutela ในตอนแรก โมเนต์ไม่ยอมเข้ารับการผ่าตัด Coutela จึงรักษาด้วยการจ่าย ยาขยายม่านตา (mydriatics) ให้โมเนต์ โดยยาทำให้รูม่านตาขยายใหญ่ขึ้น ทำให้แสงผ่านเข้าตาได้มากขึ้น เพิ่มการมองเห็นให้ดีขึ้น ซึ่งโมเนต์พอใจกับผลการรักษาเป็นอย่างมาก แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยา โมเนต์ก็มองไม่เห็นเหมือนเดิม
จนในที่สุด โมเนต์ ยอมเข้ารับการ ผ่าตัดต้อกระจก ตาข้างขวา ในปี 1923 การผ่าตัดประกอบด้วย 2 ส่วน คือตัดม่านตาออกบางส่วน (partial iris removal) และตามด้วยการนำเลนส์ตาออกมา (lens extraction) หลังการผ่าตัดครั้งนั้น ตามมาด้วยการผ่าตัดย่อยอีกหนึ่งครั้ง เพื่อเปิดถุงหุ้มเลนส์ด้านหลัง (posterior capsule)
การรักษาตัวเพื่อฟักฟื้นหลังการผ่าตัด เป็นฝันร้ายของโมเนต์และจักษุแพทย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากโมเนต์ ต้องนอนราบบนเตียงโดยมีถุงทรายประกบอยู่ด้านข้าง เพื่อป้องกันการขยับตัว ทำให้โมเนต์ รู้สึกลำบาก และเบื่อหน่าย
ถึงกับเขียนจดหมาย ไปถึงจักษุแพทย์ว่า "ผมเสียใจอย่างที่สุด ที่ยอมเข้าผ่าตัดอันตรายนี่ มันเลวร้ายเกินจะทน ขอโทษที่พูดตรง ๆ แต่ผมบอกได้เลยว่า การทำให้ผมต้องมาอยู่ในสภาพแบบนี้ มันแทบไม่ต่างจากอาชญากรรม !"

Monet after cataract surgery, 1923. (source ; dailyartmagazine.com)
เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีเลนส์ตาเทียม โมเนต์จึงต้อง ใส่แว่นสายตาทดแทนเลนส์ตาธรรมชาติที่ถูกผ่าออกไป (aphakic spectacles) ทำให้โมเนต์มีอาการเห็นภาพโค้ง บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง เห็นภาพทุกอย่างเป็นโทนสีฟ้า-เขียว (cyanopsia) ส่งผลให้ผลงานของโมเนต์ในช่วงนั้นจะเป็นภาพโทนสีฟ้ากว่าปกติ

ภาพที่โมเนต์วาดในช่วงเป็นต้อกระจก , ภาพที่โมเนต์วาดหลังผ่าตัดต้อกระจก
การกลับมามองเห็นอีกครั้งของโมเนต์ ด้วยเลนส์แว่นตาพิเศษ
หลังจากต้องทนทุกข์ ทรมาน กับอาการที่เกิดหลังการผ่าตัดต้อกระจก โมเนต์ได้พบจักษุแพทย์คนใหม่ ชื่อ Jacques Mawas โดย Mawas ได้จ่ายเลนส์ย้อมสีพิเศษที่มีชื่อว่า Katral จากแบรนด์ ZEISS ให้แก่โมเนต์ และโมเนต์ยังคงมีอาการ cyanopsia อยู่ Mawas จึงแก้ไขด้วยการปิดตาข้างซ้าย ซึ่งช่วยให้อาการโมเนต์ดีขึ้น เริ่มยอมรับสภาพการมองเห็นของตนเองได้ และเริ่มกลับมาวาดภาพอีกครั้ง

แว่นตาโมเนต์
ในปี 1924 โมเนต์กลับมามองเห็นสีเป็นปกติอีกครั้ง และได้สานต่อผลงานที่เริ่มไว้จนเสร็จสิ้น กลายเป็นผลงานอันโด่งดัง Grandes Décorations (ชุดภาพพาโนรามาดอกบัวในสระ) จัดแสดงถาวรอยู่ที่ Musée de l’Orangerie กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นของขวัญที่ โมเนต์ มอบให้แก่ประเทศฝรั่งเศส
Water Lilies 1914-1926
ปี 1926 โมเนต์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะนั้นโมเนต์มีอายุ 86 ปี ตลอดช่วงชีวิต โมเนต์ได้สร้างคุโณปการ ให้แก่วงการศิลปะมากมาย ผ่านการใช้ดวงตาเฝ้ามอง สังเกตธรรมชาติ และไม่เคยหยุดวาดภาพแม้ดวงตาแทบมองไม่เห็น
เหมือนกับที่เจ้าตัวเคยให้สัมภาษณ์กับ Marcel Pays แห่งหนังสือพิมพ์ Excelsior ในปี 1921
“As long as my paint tubes and brushes are not mixed up …
I will paint almost blind, as Beethoven composed completely deaf.
ตราบใดที่ยังแยกหลอดสี และพู่กันออกจากกันได้ …
ฉันจะวาดภาพต่อไปแม้ตาจะเกือบบอด เหมือนที่เบโธเฟนแต่งเพลงทั้งที่หูหนวกโดยสิ้นเชิง”
บทความโดย โย จุฬารัตน์ O.D. (Doctor of Optometry)
นักทัศนมาตร ประจำร้านแว่นตา กู๊ด วิชั่น
ที่มา:
Ravin, J. G. (1985). Monet’s Cataracts. JAMA, 254(3), 394.
https://doi.org/10.1001/jama.1985.03360030084028
National Gallery of Victoria. (n.d.). Monet timeline. Copyright (C) 2013 National Gallery of Victoria. https://www.ngv.vic.gov.au/monet-timeline/#slide-24
Gruener, A. (2015). The effect of cataracts and cataract surgery on Claude Monet. British Journal of General Practice, 65(634), 254–255.
https://doi.org/10.3399/bjgp15x684949
Commerce, B. (2019, September 6). Eight Things You Didn't Know About Claude Monet. M.S. Rau.
https://rauantiques.com/blogs/canvases-carats-and-curiosities/things-you-didnt-know-about-claude-monet
Irvine, J. (n.d.). The Cataracts of Claude Monet. The Ophthalmologist.
https://theophthalmologist.com/issues/2024/articles/jun/the-cataracts-of-claude-monet
Wullschläger, J. (2024, August 29). Later in life, Claude Monet obsessed over water lilies. his paintings of
them were some of his greatest masterpieces. Smithsonian Magazine.
https://www.smithsonianmag.com/arts-culture/claude-monet-became-obsessed-water-lilies-paintings-were-some-greatest-masterpieces-180984898/
ZEISS stories – ZEISS glasses for the artist Claude Monet. (n.d.).
https://www.zeiss.com/corporate/en/c/stories/insights/zeiss-glasses-for-claude-monet.html